หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากปัญหาต่างๆ

มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากปัญหาต่างๆ

การประเมินการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินสำหรับการศึกษานี้จะพิจารณาเฉพาะปัญหาสำคัญ ได้แก่ 1) ปัญหาการชะล้างพังทลายที่ทำให้สูญเสียธาตุอาหารของพืช 2) ปัญหาดินเค็ม โดยคิด มูลค่าการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ดินเป็นรายปี และ 3) ปัญหาดินถล่ม โดยคิดจาก มูลค่าความเสียหายจากดินถล่ม
1)   การประเมินการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เกิดจากการชะล้างพังทลาย โดยใช้ปุ๋ยเพื่อทดแทนความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินที่สูญเสียไป (Replacement cost) เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ที่เกิดการสูญเสียดินประมาณ 108.87 ล้านไร่ ในการศึกษานี้จะพิจารณาเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ เนื่องจากมีอัตราการชะล้างพังทลายดินในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก หรือมีอัตราการสูญเสียดินประมาณ 2-50 ตันต่อไร่ต่อปี ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าการสูญเสียธาตุอาหาร คือ ข้อมูลอัตราการสูญเสียปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ในแต่ละภาค ตามชนิดของปุ๋ย จากการสำรวจการพัดพาปุ๋ยของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ในแต่ละภาคของ    เดชา และคณะ (2540) ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่จากสถิติการเกษตรรายปีจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และข้อมูลราคาปุ๋ยยูเรีย (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต และปุ๋ยโปแตสเซี่ยมคลอไรด์ (ข้อมูลสถิติปริมาณและมูลค่าการนำเข้า ของกรมศุลกากร) จากการคำนวณต้นทุนการสูญเสียธาตุอาหารจากการพังทลายของดินมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5,015 ล้านบาทต่อปี
2) การประเมินการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์จากดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินเค็มส่วนหนึ่งเกิดมาจากการใช้ที่ดิน การปลูกพืช การสร้างอ่างเก็บน้ำ การตัดถนน การตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมเหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดิน คือ ยกระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นทำให้ละลายเกลือซึ่งอยู่ตามธรรมชาติใต้ดินขึ้นมาบนผิวดินจึงทำให้เกิดปัญหาดินเค็มส่งผลให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ ในบางพื้นที่ปลูกพืชได้แต่ผลผลิตลดลง และรายได้ลดลง เป็นต้น พื้นที่ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่ากับ 17.8 ล้านไร่ แบ่งเป็น 3 ระดับความเค็ม เนื่องจากพื้นที่ดินเค็มระดับน้อยเป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชบางชนิดได้และเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินได้เผยแพร่ความรู้และวิธีการในการจัดการพื้นที่ดินเค็ม ดังนั้น ในการศึกษานี้จะคำนวณต้นทุนความเสียหายจากดินเค็มระดับมากและปานกลางซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 5.2 ล้านไร่ ข้อมูลต้นทุนความเสียหายจากดินเค็มจากการศึกษาของ Hall, N. et al. (2004) ที่ศึกษาผลกระทบจากดินเค็มต่อรายได้ทางการเกษตรในจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดนครราชสีมา ในช่วงเวลา 30 ปี คือ รายได้ลดลง 484.14 บาทต่อไร่ต่อปี (ราคา ณ ปี พ.ศ. 2547) จากการคำนวณต้นทุนการสูญเสียรายได้จากดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่ามีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2,518 ล้านบาทต่อปี
3) ธรณีพิบัติภัย ได้แก่ ดินถล่ม แผ่นดินไหว หลุมยุบ และการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะแผ่นดินถล่ม ซึ่งร้อยละ 21 ของพื้นที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อดินถล่มในระดับสูงดินถล่มเกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ โดยกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนเร่งให้เกิดมากขึ้น เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง การตั้งบ้านเรือนตามหุบเขาหรือตามทางน้ำ การปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เป็นต้น สำหรับการประเมินมูลค่าความเสียหายจากดินถล่มเป็นมูลค่าความเสียหายที่รวบรวมโดยกรมทรัพยากรธรณี ครอบคลุมความเสียหายของทรัพย์สิน บ้านเรือน ถนน สถานที่ราชการ และทรัพย์สินอื่นๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความสูญเสียชีวิต พบว่า มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเท่ากับ 157 ล้านบาทต่อปี
รวมมูลค่าความเสียหายโดยรวมด้านทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน จากปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ปัญหาดินเค็ม และปัญหาดินถล่ม พบว่า มีมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 7,477 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ปัญหาในการคำนวณส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาข้อมูล กรณีพื้นที่ดินเค็มเป็นข้อมูลที่เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนปัจจุบันก็ยังอ้างข้อมูลดังกล่าว ถึงแม้ว่าจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านดิน พบว่า กิจกรรมของมนุษย์มีส่วนทำให้ดินเค็มแพร่กระจาย เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การสร้างแหล่งน้ำ เป็นต้น ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดทำข้อมูลดินเค็มที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทั้งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์หรือเกิดตามธรรมชาติ สำหรับกรณีการสูญเสียธาตุอาหารที่เกิดจากการพังทลายของดิน ไม่ได้พิจารณาถึงปริมาณปุ๋ยที่ใส่เข้าไปในแต่ละปี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของดินในระยะยาวที่เกิดจากวิธีการทางเขตกรรม การสูญเสียหน้าดินที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการตื้นเขินของแหล่งน้ำ และกรณีของภัยพิบัติดินถล่มเป็นเพียงมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สิน ยังไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดต่อระบบนิเวศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น